Wednesday, September 30, 2009

พะยูนคืออะไร


พะยูนคืออะไร


พะยูนมีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยหลายชื่อ
คือปลาหมู หมูดุด ดุหยง
มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Dugong หรือ Sea Cow
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dugong dugon
พะยูน คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งเช่นเดียวกันกับมนุษย์ พะยูนอาศัยอยู่ในทะเลบริเวณชายฝั่งที่น้ำมีความลึกไม่มากนัก บรรพบุรุษของพะยูนเคยอาศัยอยู่บนบกแต่เริ่มมีวิวัฒนาการลงไปอาศัยอยู่ในน้ำตั้งแต่เมื่อประมาณ 60 ล้านปีก่อน ทำให้ พะยูนมีการวิวัฒนาการรูปร่างให้เหมาะกับการอาศัยอยู่ในน้ำ คือมีรูปทรง กระสวยคล้ายโลมาแต่ อ้วนป่องกว่าเล็กน้อย ผิวหนังเรียบลื่นถึงแม้ว่า พะยูนจะมีรูปร่างภายนอกคล้ายโลมาแต่พะยูนกลับมีวิวัฒนาการ มาสายเดียวกับช้าง พะยูนกินพืชเป็นอาหารและมีเต้านมอยู่บริเวณขาหน้าเช่นเดียวกับช้างแต่โลมามีเต้านมอยู่บริเวณ ด้านท้ายและกินสัตว์เป็นอาหาร เมื่ออายุยังไม่มากพะยูนมีผิวสีเทาเมื่อโตและแก่มากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐ แต่พอแก่มากขึ้นอีกจะมีรอยด่างสีขาวเกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านหลังอาจเป็นปื้นขนาดใหญ่ มองเห็นได้ชัดเจนจากระยะไกล ขาด้านหน้ามีขนาดสั้นและเปลี่ยนรูปไปคล้ายใบพายใช้สำหรับการช่วยบังคับทิศทางหรือเอาไว้เดินขณะอยู่ที่พื้นทะเล ขาหลังลดรูปจนหายไปหมดเหลือเพียง กระดูกชิ้นเล็กๆอยู่ภายในลำตัว ส่วนท้ายเป็นครีบสองแฉกวางแนวระนาบคล้ายหางโลมาใช้โบกขึ้นลงเพื่อการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า พะยูนต้องหายใจด้วยปอดเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ รูจมูกมีสองรูตั้งอยู่บริเวณปลายด้านบน ของปากเพื่อให้ขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำได้โดยไม่ต้องโผล่ส่วนอื่น ขึ้นมาด้วยเมื่อดำน้ำจะมีแผ่นหนังมาปิดปากรูไว้เพื่อกันน้ำเข้าปากมีขนาดใหญ่มีขนแข็งๆ ขึ้นเป็นจำนวนมากมีความแข็งแรงสำหรับการขุดหรือไถไปตามพื้นทะเลเพื่อกินหญ้าทะเล เป็นอาหาร

พะยูนมีความเป็นอยู่อย่างไร
พะยูนส่วนใหญ่ชอบอาศัยรวมกันอยู่เป็นฝูงตามชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำ ที่มีแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูนเป็นอาหาร พะยูนหาอาหารทั้งกลางวันและกลางคืนโดยเมื่อน้ำขึ้นพะยูนจะรวมกลุ่มกันเข้ามากินหญ้าทะเลที่ขึ้นเป็นแนวอยู่บริเวณน้ำตื้น จนกระทั่งน้ำเริ่มลงพะยูนก็จะกลับไปหลบอาศัยอยู่บริเวณร่องน้ำที่อยู่ใกล้เคียงและรอที่จะกลับเข้ามาเมื่อน้ำขึ้น อีกครั้งหนึ่ง
ชีวิตครอบครัวของพะยูน
ปกติ พะยูนชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่เราก็ยังไม่ทราบความสัมพันธ์กันภายในฝูงหรือครอบครัวของพะยูนมากนัก แต่พะยูนมีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกอ่อนของมัน หลังจากพะยูนผสมพันธุ์แล้วแม่จะตั้งท้องเป็นเวลาประมาณ 13 เดือน เมื่อคลอดลูก (โดยทั่วไปครั้งละหนึ่งตัว)ออกมาแล้ว แม่พะยูนจะเลี้ยงดูลูกอ่อนต่อไปประมาณปีครึ่ง ระหว่างนี้พะยูนจะยังไม่มีลูกใหม่ไป 2-3 ปี ลูกพะยูนขนาดยาวประมาณไม่เกิน 1 เมตร จะว่ายเกาะติดบริเวณด้านข้างของแม่เกือบตลอดเวลา แต่ก็มีบ้างที่ลูกพะยูนซุกซน ว่ายห่างออกไปหรือว่ายไปบนหลังของแม่มัน เมื่อจะกินนมลูกพะยูนก็จะว่ายเข้าไปดูดจากหัวนมของแม่ที่อยู่บริเวณใต้โคน ครีบหน้า จากการสำรวจศึกษาโดยนักวิชาการของกรมป่าไม้ พบว่าบ่อยครั้งที่พะยูนแม่ อยู่ร่วมกับพะยูนขนาดใหญ่อีกตัวหนึ่งที่ว่ายตามอยู่ไม่ห่างเป็นเสมือนพ่อ หรือพี่เลี้ยงก็ยังคงเป็นปริศนาที่เราต้องทำความเข้าใจกันต่อไป
กรมป่าไม้กับพะยูน

พะยูนเคยได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติปี2535 ด้วยสถานะการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของพะยูนทำให้พะยูนได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งในสิบห้าชนิดของไทย การประกาศเช่นนี้ย่อมหมายถึงทางราชการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พะยูนมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้กรมป่าไม้ ก็มิใช่ หยุดเพียงมาตราการทางกฎหมายแต่กรมป่าไม้ยังได้จัดให้มีการทำโครงการรักษ์พะยูนขึ้นในโครงการนี้มีเป้าหมายในการศึกษา และแสวงหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ในการอนุรักษ์พะยูนตลอดจนหญ้าทะเล อันเป็นอาหารหลักของพะยูนและแหล่งอาหาร รายได้ของชาวประมงชายฝั่ง

ในการศึกษาเกี่ยวกับพะยูนนี้ กรมป่าไม้ได้เริ่มการดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2533 จนกระทั่งปี 2534 กรมป่าไม้จึงเริ่มมีการสำรวจ จำนวนพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัยจากทางอากาศ ในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ในเดือนเมษายน 2535 พบพะยูนจำนวนสูงสุดถึง 61 ตัวในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลจำนวนมากที่ช่วยให้เราเข้าใจในตัวพะยูนมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เราเกือบจะไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลที่ผิดพลาดเนื่องจากการขาดการศึกษาทางวิชาการที่เหมาะสม การได้ข้อมูลใหม่ๆที่ถูกต้องนี้ทำให้กรมป่าไม้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพะยูนมากขึ้น การศึกษานี้มีเป้าหมายในการหา

  1. จำนวนพะยูนของไทย เพื่อให้ทราบสถานะที่แท้จริงสำหรับการวางแนวทางการจัดการที่เหมาะสม
  2. แหล่งอาศัยของพะยูน การอพยพ การเคลื่อนย้ายฝูงในแต่ละช่วงวันหรือตามฤดูกาลโดยจะเริ่มบริเวณเขตจังหวัดตรัง ก่นและมีแผนงานที่จะสานต่อข้อมูลออกไปเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
  3. พฤติกรรมการดำรงชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในฝูง
  4. ปัจจัยที่พะยูนต้องการเพื่อการความอยู่รอดเช่น ความเค็ม ความลึกน้ำ
  5. การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปรไปอาจเนื่องมากจากมนุษย์หรือภัยธรรมชาติ
  6. ระบบนิเวศน์หญ้าทะเล ปริมาณ ความสัมพันธ์ระหว่างหญ้ากับพะยูน
  7. ชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะชาวประมงชายฝั่งที่มีความเกี่ยวข้องกับพะยูน

ทั้งนี้แนวทางการศึกษาของกรมป่าไม้จะมุ่งเน้นการศึกษาพะยูนที่มีการดำรงชีพอยู่ในธรรมชาติเป็นหลัก

พะยูนอยู่ที่ไหน
พะยูน (Dugong) เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนเท่านั้น ทั้งยังมีการกระจายอยู่เพียงในเขตแนวชายฝั่งด้าน ตะวันออกของชายฝั่งทวีปแอฟริกาเลียบชายฝั่งย่านเปอร์เซีย อินเดีย ไทย ชายฝั่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย ถึงแม้ว่าการกระจายจะมีเป็นบริเวณกว้างแต่ประชากรพะยูนทั่วโลกกลับมีจำนวนลดลงจนเกือบสูญพันธุ์เนื่องจากการล่าและการทำลาย แหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนอย่างขาดความคิดของมนุษย์ ปัจจุบันยังคงมีเพียงบริเวณชายฝั่งออสเตรเลียเท่านั้นที่มีจำนวนประชากร พะยูนหลายหมื่นตัว เนื่องจากมีจำนวนประชาชนน้อย (ชายฝั่งของทั้งทวีป) อย่างไรก็ตาม ประเทศออสเตรเลียกลับมีมาตรการการคุ้มครองพะยูนอย่างเข้มงวด มีการประกาศอนุรักษ์พื้นที่สำหรับพะยูน การดำเนินการแม้การพานักท่องเที่ยวไปชมพะยูนก็ต้องมีกฎระเบียบที่เข้มงวดและต้องมีการขออนุญาตจากรัฐบาล
สำหรับประเทศไทยเคยมีพะยูนอยู่อย่างมากมายทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ประมาณปี พ.ศ. 2510) แต่ก็มีจำนวนลดลงจนเหลือ อาจไม่ถึงร้อยตัวกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศอันเนื่องมาจากการล่า (ในอดีต) การเข้าไปติดในเครื่องมือประมง และการ ทำลายแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารทั้งของพะยูนและมนุษย์เอง (อดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ถ้าเรายังคงปล่อยให้สถานะการณ์ ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปพะยูนของไทยเราก็คงสูญพันธุ์ไปเช่นเดียวกับสมันและสัตว์อีกหลายชนิดที่หายไปในช่วงชีวิตของเรา

จากการสำรวจของกรมป่าไม้พบว่าพะยูนยังคงมีกระจายอยู่ตามชายฝั่งของไทยทั้งอันดามันและอ่าวไทยแต่มีจำนวนน้อยและยังคง ไม่ทราบแน่ชัด เราเพียงทราบแล้วว่าเราสามารถพบพะยูนได้ตามชายฝั่งต่างๆ ทางฝั่งอันดามันพบตลอดแนวชายฝั่ง ทางอ่าวไทย ยังคงพบอยู่บ้างที่ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา แต่กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดพบที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 ตัว

พะยูนกินอะไรเป็นอาหาร
อาหารหลักของพะยูนคือหญ้าทะเล หญ้าทะเลนี้เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว คล้ายหญ้าทั่วไปที่เราพบอยู่บนบก แต่มีวิวัฒนาการลงไปเจริญอยู่ใต้น้ำทะเลในบริเวณที่ทำการศึกษาพะยูนในเขตจังหวัดตรัง เราจะพบแหล่งหญ้าทะเลผืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยหญ้าทะเลถึง 9 ชนิด ขึ้นรวมกันเป็นพื้นที่หลายสิบตารางกิโลเมตร หญ้าทะเลชนิดที่พะยูนชอบกินได้แก่หญ้าใบมะขาม (Halophila ovalis) และถึงแม้ว่าพะยูนจะกินหญ้าเป็นอาหารหลักแต่ก็มีแนวโน้มว่าพะยูนกินสัตว์ขนาดเล็กๆ ที่อยู่ตามพื้นในแนวหญ้าทะเลเช่นปลิงทะเล เป็นอาหารด้วยเช่นกัน
พะยูนมีอายุประมาณเท่าไร
พะยูนมีช่วงชีวิตใกล้เคียงกับมนุษย์ คือประมาณ 70 ปี พะยูนตัวผู้จะสืบพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 9 ปีขึ้นไป ส่วนตัวเมียจะเริ่มผสม พันธุ์ได้เมื่ออวยุมากกว่า 13 ปี
เราจะอนุรักษ์พะยูนได้อย่างไร
การ อนุรักษ์พะยูนนั้นเช่นเดียวกันกับการอนุรักษ์สัตว์หรือพรรณพืชอื่นๆ คือต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย สำหรับหน้าที่ของนักวิชาการของกรมป่าไม้ย่อมต้องมีหน้าที่ในการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้ในการบริหาร และจัดการระบบนิเวศของพะยูนต่อไป

สำหรับประชาชนทั่วไปก็สามารถช่วยกันอนุรักษ์พะยูนได้ด้วยการให้ความสำคัญติดตามข่าวสารการร่วมแสดงความคิดเหศนในโอกาสต่างๆ การไม่สนับสนุนการประมงที่ผิดกฎหมาย การสนับสนุนแก่ผู้ทำการศึกษาและอนุรักษ์ การไม่สร้างมลภาวะ ให้เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราก็เป็นการช่วยกันอนุรักษ์ที่สำคัญทางหนึ่งเพราะมลภาวะที่เกิดขึ้นทุกที่ ผลสุดท้ายก็มักถูกพัดพาลงไปสะสมในทะเลเหมือนกัน สำหรับกรมป่าไม้ หากต้องการทราบว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไร โปรดดูได้ที่ การดำเนินการในปัจจุบัน